เปิดใจ ARUN+ พร้อมดันรถยนต์ไฟฟ้าในไทยขนาดไหน?

#ArunPlus  

ARUN PLUS

ARUN PLUS (อรุณ พลัส) เป็นบริษัทไทย ที่พร้อมเป็นผู้นำด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร มีเป้าหมายที่จะนำพาประเทศไทยของเรา ก้าวสู่ยุคแห่งสังคมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิตรถทั้งคัน จนถึงสถานีชาร์จ

อรุณ พลัส เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นอยู่ 100% ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตามวิสัยทัศ์ของ ปตท. เพื่อส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ


ความพร้อมของ ARUN+ กับยานยนต์ไฟฟ้า

ในปี พ.ศ. 2566 ทาง อรุณ พลัส เตรียมความพร้อมในการเดินหน้าสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การแสวงหาลูกค้าที่จะมาจ้างผลิตรถยนต์ในโรงงานแห่งนี้อย่างไร

คุณยิ้มกล่าวว่า “การสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า จะดำเนินการลงทุนผ่าน บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส และ ฟ็อกซ์คอนน์ ปัจจุบันดำเนินการซื้อที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่นิคมฯ โรจนะ จังหวัดชลบุรี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบตัวโรงงาน และมีแผนเริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 4/2565 (ปลายปีนี้) โดยในปี 2566 อยู่ในเฟสการก่อสร้าง โรงงานเป็นหลัก ส่วนรูปแบบรถยนต์ที่ผลิตนั้น จะสามารถผลิตรถยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ มิได้จำกัดเฉพาะรูปแบบที่มีในโรงงานเท่านั้นโดยทางโรงงานสามารถผลิตรถยนต์ขึ้นมาได้แบบเสร็จสมบูรณ์ทั้งคัน

สำหรับด้านการมองหาลูกค้า ทาง อรุณ พลัส อยู่ระหว่างหารือเจรจาการรับจ้างผลิต โดยมี OEM Brand จากต่างประเทศ ทั้งประเทศจีน และจากยุโรป ที่มีความสนใจและมีแผนใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV รวมถึงสนใจจะเข้ามาเปิดตลาด EV ในประเทศไทยหลายค่าย”


นอกจากนี้ โรงงานของเราก็มีแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปจาก FOXCONN มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการผลิตรถยนต์ด้วย โดยแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ FOXCONN นั้น จะเป็นโครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่แบรนด์รถยนต์ที่สนใจสามารถนำเอาตัวพื้นฐานตัวนี้ไปพัฒนาต่อยอดในส่วนของบอดี้ตัวรถออกมา และนำมาประกอบเข้ากับตัวของแพลทฟอร์ม FOXCONN ได้เลย ซึ่งตัวแพลทฟอร์มของ FOXCONN นี้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานได้หลากหลาย ทั้งการทำเป็นรถยนต์นั่งในหลากหลายไซส์ รวมไปถึงรถยนต์แบบอเนกประสงค์ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดจากแพลทฟอร์มจาก FOXCONN นี้ได้

ส่งผลให้แบรนด์รถยนต์ที่สนใจการผลิตในรูปแบบนี้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการพัฒนาระบบขับเคลื่อนไปได้มาก และหันไปโฟกัสเฉพาะเรื่องของดีไซน์และซอฟแวร์ได้อย่างเต็มที่

นอกจากรถยนต์นั่ง 4 ล้อแล้ว จะมียานยนต์ประเภทใดบ้างที่จะผลิตได้จากโรงงานของ อรุณ พลัส?

คุณยิ้มกล่าวต่อว่า “รูปแบบของรถยนต์ที่ผลิตในโรงงานนี้ จะรับเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น สาเหตุก็คือรถยนต์นั่งแบบ 4 ล้อ เป็นรถยนต์ที่มีปริมาณมากที่สุด ในประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์นั่งประเภทนี้เกือบ 2 ล้านคันต่อปี โดยมีครึ่งหนึ่งส่งออก อีกครึ่งหนึ่งใช้งานภายในประเทศ คิดเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2021 สำหรับประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกรถยนต์มากกว่าที่นำเข้ามา (ที่มา : https://www.worldstopexports.com)

อย่างไรก็ตาม อรุณ พลัส ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการในประเทศไทยหลากหลายราย ทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์และรถเชิงพาณิชย์ เช่น รถบัส"


โอกาสผลิตในการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า

คุณยิ้มกล่าวว่า “โรงงานผลิตรถยนต์ของ อรุณ พลัส สามารถผลิตได้ทั้งรูปแบบพวงมาลัยขวาและพวงมาลัยซ้าย รองรับความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น โดยทาง อรุณ พลัส ทำหน้าที่เป็นโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อสามารถมาจ้างผลิตรถยนต์ได้ที่โรงงานแห่งนี้”


หลายคนสงสัยว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อรุณพลัสได้ประกาศความร่วมมือกับ NETA เพื่อทำธุรกิจในประเทศไทย ทว่า ณ ขณะนี้ NETA มีปัญหาการส่งมอบรถยนต์ที่ล่าช้ามากๆ ปัญหาการส่งมอบนี้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับ อรุณ พลัส หรือไม่?

“NETA คือค่ายรถยนต์ที่มาคุยเรื่องการจ้างผลิตรถยนต์กับทาง Horizon Plus ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ อรุณ พลัส เพื่อทำการผลิตรถยนต์ให้ ทว่าการผลิตรถยนต์ให้จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นรถยนต์ที่จะนำมาขายในช่วง 2 ปีนี้ จึงเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนก่อน

ในขณะเดียวกัน ค่ายรถที่จะเข้าโครงการนี้ต้องทำสัญญากับภาครัฐว่าจะต้องมีฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศ ดังนั้นทางเราจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการนี้ จากเดิมที่ทาง NETA จะต้องสร้างโรงงานเองซึ่งเป็นเม็ดเงินการลงทุนที่ไม่น้อย จึงเลือกที่จะมาจ้างผลิตกับทางเราแทน โดยขั้นตอน ณ ขณะนี้ NETA อยู่ระหว่างพูดคุยรายละเอียดกับทางภาครัฐอยู่ ซึ่งคาดว่าจะหาข้อสรุปกันได้ในเร็วๆ นี้” คุณยิ้มกล่าว


ความคืบหน้าของแบรนด์รถยนต์ที่จะมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับทาง อรุณ พลัส

อรุณ พลัส มีการพูดคุยเกือบทุกแบรนด์ที่มีความสนใจตลาดประเทศไทย ทว่ามีหลายๆ แบรนด์ที่มีความพร้อมในการสร้างโรงงานตามกรอบเวลา 2 ปีของภาครัฐ โดยเราไม่ได้มองว่าแบรนด์เหล่านี้เป็นคู่แข่งโดยตรงกับทาง อรุณ พลัส แต่จะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับลูกค้าของ อรุณ พลัส เพราะแบรนด์ที่มาจ้างเราผลิตนั้นเขาจะต้องนำรถไปขายต่อ ซึ่งเป็นเรื่องของการขายและการทำการตลาด ส่วน อรุณ พลัส เราเป็นผู้รับจ้างผลิตเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นคู่แข่งโดยตรง

ทว่า เรามองเรื่องของการผลิตเป็นแค่ส่วนของกลางน้ำ แต่เรามีภาคของต้นน้ำอยู่ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องของระบบการควบคุมรถ, แบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ทางอรุณพลัสกำลังสร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตระดับโลกเหล่านั้นอยู่ ซึ่งถ้าเรามีความร่วมมือเหล่านี้ครบวงจร จะส่งผลให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีความสนใจมาจ้างผลิตมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องของปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องของการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เรามีแบรนด์ on-ion ที่ทำเรื่องจุดชาร์จ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่นอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า และกำลังขยายโครงข่ายออกไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ เรายังมี EVme ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเปิดโอกาสให้ค่ายรถยนต์ที่มองเห็นโอกาสว่าแพลตฟอร์มนี้เป็นช่องทางในการทำการตลาดได้ ก็สามารถนำรถยนต์มาให้เช่าผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้ด้วย


โครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ อรุณ พลัส มีโครงการในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง?

คุณยิ้มกล่าวต่อ “จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าบางค่ายต้องปิดรับจองชั่วคราว เป็นสัญญาณชัดเจนว่ากระแสการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่

ทว่า เรื่องของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเหมือนไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน ฝั่งผู้จะลงทุนทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็กังวลว่าจะมีคนมาชาร์จหรือเปล่า ฝั่งผู้จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็กังวลว่าจะมีสถานีชาร์จพอหรือไม่

ทว่าตอนนี้ ปัญหานี้ถูกคลี่คลายไประดับหนึ่งแล้วด้วยยอดการสั่งจองรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอย่างมหาศาล ทำให้เราเห็นแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง ทว่าผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ ณ ตอนนี้ มักจะชาร์จรถยนต์ที่บ้านมากกว่า ยกเว้นการเดินทางไกลไปต่างจังหวัด จึงจะต้องใช้สถานีชาร์จตามสถานีชาร์จสาธารณะ โดยตอนนี้ OR ก็ได้ขยายสถานีชาร์จไปตามสถานีบริการน้ำมันต่างๆ เห็นได้ว่า ทั้ง on-ion และ OR ถือว่าเป็นส่วนช่วยผลักดันระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งคู่

ด้านการใช้งานระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จากการที่เราได้เก็บข้อมูลมานั้นพบว่าคนส่วนใหญ่นิยมชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วย DC มากกว่า AC ซึ่งทำให้ทาง อรุณ พลัส ได้ข้อมูลเพื่อที่จะใช้ในการลงทุนต่อไปในอนาคตด้วย”


เมื่อพูดถึง EVme ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า คุณยิ้มยังเล่าให้ฟังว่า EVme ในอนาคตมีโอกาสที่จะเลื่อนขั้นขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้เช่นกัน เพราะ อยู่ในแผนการพูดคุยกับทางค่ายรถต่างๆ เพราะถ้าค่ายรถมองว่านี่คือช่องทางทำการตลาดออนไลน์แล้ว เราก็จะสามารถสร้างความร่วมมือกันได้ โดยตอนออกแบบ EVme ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบริการทดลองใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถลองได้ตั้งแต่ระยะสั้นช่วง 3-7 วัน หรือยาวเป็นปีได้

ซึ่งตอนนี้เราพบว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้มองรถยนต์เป็นทรัพย์สิน แต่มองเป็นเพียงบริการยานพาหนะที่จะพาคนจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งได้ และมักมองว่าจะจ่ายเงินต่อเมื่อได้ใช้เท่านั้น (Mobility on Demand) ซึ่งนี่อาจตอบโจทย์การใช้งานในวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะไม่ต้องซื้อรถยนต์เอาไว้เพื่อจอด แต่จะเลือกเช่าไปเพื่อใช้งานโดยตรง

โดยเรามองเห็นช่องทางนี้ว่าสามารถต่อยอดธุรกิจและบริการได้หลากหลายผ่านช่องทางนี้ได้ในอนาคต


แผนในอนาคตของอรุณพลัสที่ครอบคลุม

คุณยิ้มเล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้เราวางแกนหลักสำคัญเรื่องของต้นน้ำถึงปลายน้ำด้านการผลิตรถยนต์ เราเริ่มตั้งแต่ชิ้นส่วนที่จำเป็นของตัวรถก่อน ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนเดิมที่ทำได้ดีอยู่แล้วสามารถร่วมงานกับเราได้ ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ไม่มีในประเทศ เราก็พยายามดึงผู้ผลิตจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทยให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของเรา

ภาคการผลิต (กลางน้ำ) ทาง ฮอริษอน พลัส มุ่งเน้นดึงลูกค้าเข้ามาร่วมผลิตรถยนต์กับเรา

ส่วนด้านปลายน้ำ ทั้งด้านโครงข่ายสถานีชาร์จ โดยเฉพาะ EVme ที่ตอนนี้มีรถให้เช่าถึง 400 คัน มีผู้เช่ารถอยู่ราวๆ 80% ส่งผลให้รถยนต์มักจะไม่ค่อยว่างให้เช่า ซึ่งตอนนี้เรามีแผนเพิ่มจำนวนรถยนต์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแกนกลางสำคัญ จัดเป็นหัวใจสำคัญของระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า เราจึงเปิดกว้างสำหรับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งหมด เพื่อมาช่วยผลักดัน และต่อยอดด้วยกัน เพราะสิ่งนี้มันสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ใครที่สนใจหรือมีไอเดียใหม่ๆ สามารถมาพูดคุยและทำความร่วมมือกับทางอรุณพลัสได้”

อรุณ พลัส พร้อมแค่ไหนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

สรุปแล้ว ทาง อรุณ พลัส มีความพร้อมอย่างมากในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่โลกแห่งยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องของชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า, การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, การทดลองใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงเรื่องของโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เรียกได้ว่าตอบทุกโจทย์ของความต้องการด้านรถยนต์พลังงานใหม่เลยทีเดียว และไม่ได้ตั้งเป้าแค่ผลักดันให้ใช้งานกันภายในประเทศเท่านั้น แต่จะผลักดันให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกเลยทีเดียว

 


Link: https://www.autospinn.com/2022/10/car-ev-exclusive-interview-with-arun-plus-ceo-91614 

ติดตาม ARUN+ ได้ที่ Facebook https://www.facebook.com/arunplusofficial/
หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ Email : corporate@arunplus.com